1243 จำนวนผู้เข้าชม |
ทานอาหารให้เป็นยา กับ น้ำสมุนไพรเพื่อสุขภาพ
ในวัฒนธรรมอาหารของจีนมีรายละเอียดที่ลึก แต่แตกแขนงองค์ความรู้ได้มากมาย ทั้งการแบ่งธาตุทั้ง 5 เป็นทิศทั้ง 5 เป็นฤดูทั้ง 5 รวมทั้งอาหารแต่ละชนิด และอวัยวะภายในร่างกายก็มีการจัดหมวดหมู่ตามลักษณะธาตุทั้ง 5 แบบหยินหยางแทบทั้งสิ้น ซึ่งการจัดแบ่งหมวดหมู่แบบนี้ ก็คล้ายกับองค์กรความรู้แบบแพทย์แผนไทยด้วยเช่นกัน โดยสันนิฐานได้ว่ามีองค์ความรู้ที่มาจากต้นตอเดียวกันหรือมีหลักคิดในแนวเดียวกัน ซึ่งให้ความหมายของอาหารครอบคลุมถึงความเป็นยารักษาโรคไปด้วย พูดให้ชัดก็คือ “ยาให้เป็นส่วนหนึ่งของอาหาร” เพราะวัตถุดิบในการปรุงยาก็มาจากพืชพันธุ์ธัญญาหารและชิ้นส่วนจากสัตว์แทบทั้งนั้น
ปัจจุบันแนวคิดในการประกอบอาหารยังคงอยู่ในหลักการสำคัญที่ว่า อาหารที่รับประทานสามารถป้องกันไม่ให้เกิดโรค และสามารถรักษา ซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ ตลอดจนส่งเสริมระบบการทำงานของร่างกาย ยังคงสอดแทรกอยู่ในการรับประทานอาหารของเราอย่างไม่รู้สึกตัว และมีการผสมผสานวัฒนธรรมอาหารทั้งแบบไทยและจีนเข้าด้วยกัน เช่น ผัดไทที่จุดเริ่มต้นเกิดในยุคก่อร่างสร้างประเทศหลังสงคราม ผู้คนส่วนใหญ่ยากจน และต้องการใช้แรงงานมาก อาหารประเภทเส้น ที่ทำจากแป้งมีราคาถูกกว่าข้าว และเป็นอาหารให้พลังงานสูงจึงถือกำเหนิดขึ้น หรือ ผัดขิง เต้าฮวยน้ำขิง ซึ่งส่วนประกอบหลักคือ ขิงที่มีฤทธิ์ร้อน เป็นยาร้อนตามธรรมชาติที่ช่วยลดไขมัน ขับลม ทำให้ร่างกายอบอุ่น ไล่ไข้ ไอ จาม และช่วยให้เลือดลมเดินสะดวก หรือ แกงเลียง สุดยอดอาหารที่ช่วยคุณแม่ให้มีน้ำนม ก็เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่าการทานอาหารมีประโยชน์มากกว่าการทำให้อิ่มท้อง
การทานอาหารให้เป็นยา สำคัญที่ต้องเข้าใจในประโยชน์ของอาหารแต่ละชนิดแต่ละเมนู ซึ่งต้องลงลึกถึงส่วนผสมทั้งหมด และปริมาณที่ใช้ปรุงอาหารได้ทั้งหมด จึงจะบอกได้ว่าอาหารนี้เป็นหยินหรือหยาง เป็นประโยชน์ร่างกายในส่วนไหนบ้างและมีสัดส่วนประมาณเท่าไร จึงไม่ใช่เรื่องง่ายในการคิดคำนวนออกมาเป็นตัวเลขให้ถูกต้องเหมือนกับการนับแคลอรี่ในอาหารที่ทาน อาหารเสริมและน้ำสมุนไพรจึงเหมือนเป็นทางเลือก่ที่ง่ายต่อความเข้าใจว่าทานอาหารเสริมหรือดื่มน้ำสมุนไพรไปแล้วได้ประโยชน์ต่อสุขภาพร่างกายอย่างไร เช่นน้ำสมุนไพรจากขิงช่วยลดคอเลสเตอรอล ลดไขมัน น้ำมะขามแขกช่วยระบาย คลายร้อน น้ำหัวปลีช่วยเร่งน้ำนมเป็นต้น